สหกิจศึกษา เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบโดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษา ร่วมกับการจัดให้นักศึกษาปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ หรือ 1 ภาคการศึกษา
โดยการปฏิบัติสหกิจศึกษาต้องอยู่ในการดูแลของอาจารย์นิเทศและพนักงานที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง เพื่อนักศึกษาจะได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับโลกแห่งความเป็นจริงของการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพที่เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ลักษณะงานที่เป็นสหกิจศึกษา
- นักศึกษาปฏิบัติงานตามโครงการ/งานที่ทางสถานประกอบการและอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นชอบและอาจได้รับมอบหมายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ โดยมีพนักงานที่ปรึกษาสอนงานและกำกับดูแลการปฏิบัติงาน
- นักศึกษามีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน ชัดเจน ตรงตามสาขาวิชาชีพ
- ปฏิบัติงานเต็มเวลาเสมือนเป็นพนักงาน
- ระยะเวลาปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา (16 สัปดาห์)
- มีค่าตอบแทนตามสมควร (หากไม่มีค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจตามความสมัครใจของนักศึกษา และผู้เป็นเจ้าของหลักสูตรและหรืออาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษายอมรับ)
วัตถุประสงค์ของการจัดสหกิจศึกษา
- เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาด้านการพัฒนาอาชีพ (Career Development) พร้อมเสริมทักษะและประสบการณ์ให้พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการทำงาน
- เพิ่มเติมประสบการณ์ทางด้านวิชาการวิชาชีพ และการพัฒนาศักยภาพตนเองแก่นักศึกษาในรูปแบบการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ
- เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต เกิดการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
- สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานประกอบการ และสถาบันการศึกษาในลักษณะเครือข่ายพหุภาคผ่านกระบวนการสหกิจศึกษา อันจะนําไปสู่ความร่วมมือที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
กิจกรรมสหกิจศึกษา
ประโยชน์ที่ได้รับจากสหกิจศึกษา
- ประโยชน์ต่อสถานประกอบการ
- ได้นักศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการช่วยงานตลอดปีการศึกษา
- พนักงานสามารถทำงานที่สำคัญได้มากขึ้น
- ใช้เป็นวิธีคัดเลือกพนักงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน
- เป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษา ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในด้านการส่งเสริมสนับสนุนวิชาการและพัฒนาบัณฑิต
- ได้อาจารย์ที่มีคุณภาพเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค
- สามารถใช้ในการดำเนินการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้
- ประโยชน์ต่อนักศึกษา
- ได้รับประสบการณ์วิชาชีพจริงตรงตามสาขาที่เรียน
- เกิดการพัฒนาตนเองและเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น
- เกิดทักษะในการนำเสนอและการสื่อสาร
- มีความรับผิดชอบและมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ
- สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้องตรงตามความถนัด
- มีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา
- เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ
- ได้รับค่าตอบแทนจากสถานประกอบการตามที่สถานประกอบการเห็นสมควร
- ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย
- เกิดความร่วมมือทางวิชาการ และความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานประกอบการ
- ได้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
- ช่วยให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน